6 Investment Token ที่ ก.ล.ต. กำกับดูแลมีอะไรบ้าง ?

22 พฤษภาคม 2568
อ่าน 4 นาที



​Investment Token คือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ที่ให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนร่วมลงทุนในสินทรัพย์ หรือโครงการต่าง ๆ ซึ่งผลตอบแทนอาจเป็นส่วนแบ่งรายได้ กำไร หรือสิทธิประโยชน์ 

การออกเสนอขาย Investment Token ต่อประชาชน (Initial Coin Offering : ICO) ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. รวมถึงต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวน และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อให้มีการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม และผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน

6 Investment Token ที่ ก.ล.ต. กำกับดูแลมีอะไรบ้าง

  1. Project based ICO เป็นการระดมทุนโดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล เพื่อพัฒนาหรือดำเนิน โครงการต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจ เช่น การลงทุนในกระแสรายได้ของร้านสะดวกซื้อ โดยผลตอบแทนการลงทุน อาจมาจากส่วนแบ่งรายได้จากโครงการ

  2. Real Estate-backed ICO เป็นการระดมทุนโดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ที่มีทรัพย์สินอ้างอิง ได้แก่ 
    (1) อสังหาริมทรัพย์ (2) หุ้นไม่น้อยกว่า 75% ของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ หรือ (3) สิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์นั้น นอกจากนี้ (1) อสังหาริมทรัพย์อ้างอิงต้องสร้างเสร็จ 100% และ (2) เป็นการลงทุนที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าโครงการ หรือไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท โดยผลตอบแทนจากการลงทุน มาจากกระแสรายรับรับหรือส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ระดมทุน เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม อาคารคลังสินค้า เป็นต้น

  3. ​Infra-backed ICO เป็นการระดมทุนโดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ที่มีการลงทุนในกิจการ โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างแล้วเสร็จ (Brownfield) หรือ โครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ (Greenfield) ไม่เกิน 30% (โครงการต้องสร้างเสร็จ 70%) เช่น ระบบขนส่ง โรงไฟฟ้า ระบบบริหารจัดการน้ำ สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม พลังงานทางเลือก ระบบจัดการของเสีย โดยผลตอบแทนจากการลงทุนอาจมาจาก กระแสรายรับ หรือส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

  4. Debt-liked token เป็นการระดมทุนโดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนหลักไว้แน่นอน โดยผู้ระดมทุนต้องให้ ICO Portal หรือ ผู้เชี่ยวชาญอิสระจัดทำ การประเมินความน่าเชื่อถือของโครงการอย่างสมเหตุสมผล และเปิดเผยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา

  5. Sustainability-themed token เป็นการระดมทุนโดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล เพื่อลงทุนในโครงการที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เช่น โครงการปลูกป่าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน จากบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่ได้มาจากการปลูกป่า ผู้ลงทุนจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน Green Economy และความยั่งยืนของประเทศ

  6. Soft power token (ICO Shelf filing) การระดมทุนโดยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ลงทุน ในอุตสาหกรรม soft power เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร ศิลปะ เป็นต้นโดยการขออนุญาต ICO แบบกลุ่ม (shelf filing) ซึ่งผู้ได้รับอนุญาตจะสามารถเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้ โดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขาย ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต